ช้างมีความสัมพันธ์กับสังคมไทยมายาวนาน โดยเฉพาะในราชสำนักไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับช้างอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช้างเผือก ซึ่งเป็นช้างสำคัญหายากประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ได้รับคติความเชื่อเกี่ยวกับช้างเผือกมาจากอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณ เห็นได้จากตำรวิชาคชศาสตร์ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ได้กล่าวถึงคชลักษณ์หรือลักษณะของช้างมงคลตระกูลต่าง ๆ ที่เชื่อว่ากำเนิดจาฟมาเทพเจ้าฮินดูของอินเดีย แบ่งออกเป็น ๔ ตระกูลหรือพงศ์ตามนามของเทพผู้สร้าง เช่นเดียวกับการแบ่งวรรณะของคนอินเดีย ได้แก่1
๑.อิศวรพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระอิศวรหรือพระศิวะทรงสร้าง เป็นช้างวรรณะกษัตริย์
๒.พรหมพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระพรหมทรงสร้าง เป็นช้างวรรณะพราหมณ์
๓.วิษณุพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์ทรงสร้าง เป็นช้างวรรณะแพทย์
๔.อัคนิพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระอัคนีหรือพระเพลิงทรงสร้าง เป็นช้างวรรณะศูทร
โดยช้างเผือกเป็นช้างที่มีลักษณะดี มีคุณลักษณะพิเศษเป็นมงคลกับผู้เป็นเจ้าของ จึงเชื่อกันว่าหากบ้านเมืองใดมีช้างเผือกเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง ถือว่าพระมหากษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองเมืองพระองค์นั้นทรงมีพระบุญญาธิการพร้อมด้วยพระบรมเดชานุภาพ เป็นสิริมงคลยิ่งแก่บ้านเมือง นอกจากนี้ช้างเผือกยังได้รับยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสิ่งมงคลคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งของสัปตรัตนะ หรือแก้ว ๗ ประการ อันเป็นเครื่องหมายของพระจักรพรรดิ ได้แก่ จักรแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว ม้าแก้ว และช้างแก้ว2 โดยช้างแก้วในความเชื่อนี้ หมายถึง ช้างมงคลหรือช้างเผือกนั่นเอง สำหรับในราชสำนักไทยมีพระราชพิธีเกี่ยวกับช้าง คือ พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างต้นหรือช้างเผือก เพื่อเป็นช้างประจำรัชกาลสำคัญอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างต้นหรือช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ3
๑.ช้างดั้งหรือช้างศึกที่ใช้ออกรบ
๒.ช้างต้นหรือช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ไม่สมบูรณ์หมดทุกส่วน ๓.ช้างเผือกที่ลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ทุกประการ
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ความต้องการใช้ช้างศึกในการสงครามหมดไป เพราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ เข้ามาแทน ดังนั้นช้างต้น ในปัจจุบันจึงหมายถึง ช้างเผือก เท่านั้น
ในสมัยโบราณจะมีการคล้องช้างป่าที่มีลักษณะดีตามตำราคชลักษณ์และนำมาถวายแก่พระมหากษัตริย์เพื่อเป็นช้างเผือกคู่พระบารมี และความสงบร่มเย็นของบ้านเมือง เมื่อมีช้างสำคัญเข้ามาสู่ราชสำนัก พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกหรือช้างต้น พร้อมพระราชทานนามและยศเป็นพระยาช้างต้นหรือนางพระยาช้างต้นประจำรัชกาล ช้างเผือกที่เข้าพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางแล้ว จะได้รับพระราชทานเครื่องยศที่เรียกว่า เครื่องคชาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่ง พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศที่เป็นเครื่องอุปโภคสำหรับช้างต้น ได้แก่ หม้อน้ำ (ทำด้วยเงิน) ๒ หม้อ และโต๊ะทำด้วยเงิน ๔ โต๊ะ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายโตก แต่พื้นตื้นสำหรับวางหรือใส่อาหารของช้าง4 อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนักที่สืบทอดต่อกันมา
ความหมาย คำว่า “คชาภรณ์” ในพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “คชาภรณ์”หมายถึง “เครื่องประดับช้าง” คำว่า คชาภรณ์ มาจากคำว่า คช (คะ-ชะ) แปลว่า ช้าง กับคำว่า อาภรณ์ แปลว่า เครื่องประดับ รวมกันหมายถึง เครื่องประดับสำหรับช้าง เครื่องคชาภรณ์เป็นชุดเครื่องแต่งตัวของช้างเผือกที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ในวันสมโภชขึ้นระวางเพื่อเป็นเครื่องยศสำหรับช้างต้นของพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย ผ้าปกกระพอง พู่หู ทามคอ พานหน้า พานหลัง สำอาง พนาศ เสมาคชาภรณ์ และเครื่องยศ5 เครื่องคชาภรณ์จะแตกต่างกันไปตามลำดับชั้นยศของช้างต้น และความเหมาะสมในการใช้งาน
ความเป็นมาของการประดับเครื่องคชาภรณ์ในราชสำนักไทย
การสร้างและประดับเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญหรือช้างต้นในราชสำนักไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนสันนิษฐานว่า น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย พร้อมกับคติความเชื่อในเรื่องช้างเผือกตามตำราคชศาสตร์ที่มีการยกย่องให้ความสำคัญกับช้างเผือกหรือช้างมงคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพบหลักฐานการสร้างเครื่องคชาภรณ์ประดับช้างเผือกหรือช้างสำคัญในศิลปะอินเดียโบราณ (ภาพ๒) ราวพุทธศตวรรษที่ ๕ – ๖ ปรากฏภาพพุทธประวัติตอนพระนางสิริมหามายาทรงพระสุบินเห็นช้างเผือก ที่มีการประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์
การประดับเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง น่าจะได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียในดินแดนสุวรรณภูมิผ่านคติความเชื่อทางศาสนา ดังปรากฏหลักฐานจากจารึกสด๊กก๊อกธม6 อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พบที่จังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงการบูชาเทพเจ้าและการถวายช้างที่ตกแต่งด้วยเสื้อเกราะและเครื่องประดับ ซึ่งเครื่องประดับดังกล่าวน่าจะหมายถึงเครื่องคชาภรณ์ นอกจากนี้ภาพสลักกองทัพเขมรบนผนังปราสาทนครวัดในศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ มีช้างประดับเครื่องทรงคชาภรณ์ด้วยเช่นกัน แสดงถึงคติการประดับเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญที่ปรากฏในดินแดนใกล้เคียงด้วยเช่นกัน
ในราชสำนักไทยการประดับเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญ พบหลักฐานชัดเจนในสมัยอยุธยา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาโกษาปานจัดซื้อเครื่องประดับสำหรับช้างต้นจากประเทศฝรั่งเศส7 นอกจากนี้ยังพบภาพเขียนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงช้างพระที่นั่งประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์ เขียนโดยช่างชาวฝรั่งเศส (ภาพ๓) ที่แสดงให้เห็นการแต่งเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างต้นในสมัยอยุธยา
นอกจากนี้การประดับเครื่องคชาภรณ์สำหรับช้างสำคัญของไทย ยังปรากฏหลักฐานในงานศิลปกรรมสมัยอยุธยา เช่น พระคชาธารหรือช้างทองคำทรงเครื่องในกรุวัดราชบูรณะ สมัยอยุธยาตอนต้น (ภาพ๔) ประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างทรงเครื่องประดับอยู่รอบฐานเจดีย์วัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร สมัยอยุธยาตอนต้น (ภาพ๕) ภาพเขียนพระเวสสันดรพระราชทานช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์บนตู้พระไตรปิฎก สมัยอยุธยาตอนปลาย (ภาพ๖) เป็นต้น
สำหรับการสร้างและการประดับเครื่องคชาภรณ์ของช้างต้นในราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ น่าจะมีการสร้างเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างต้นหรือช้างสำคัญเกือบทุกรัชกาล สะท้อนให้เห็นได้จากตัวอย่างศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น ภาพพระเวสสันดร พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ทรงเครื่องคชาภรณ์ ในสมุดภาพไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ ๑ และภาพช้างทรงเครื่องคชาภรณ์ในกระบวนทัพในงานจิตรกรรมบนผนังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้น ภาพช้างทรงเครื่องคชาภรณ์ในงานศิลปกรรมดังกล่าวต้องการแสดงความสำคัญของช้างในภาพ โดยใช้เครื่องคชาภรณ์เป็นเครื่องหมายที่แสดงความสำคัญของช้างและแสดงถึงเกียรติยศของผู้ครอบครองหรือพระมหากษัตริย์ในภาพเล่าเรื่อง ดังนั้นการสร้างและการประดับเครื่องคชาภรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อันเป็นคติความเชื่อที่มาจากอินเดีย เช่นเดียวกับอาณาจักรใกล้เคียงในสมัยเดียวกัน โดยพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและพระราชทานเครื่องคชาภรณ์สำหรับเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องยศช้างเผือกสำคัญของชาติหรือ พระยาช้างต้นเพื่อใช้แต่งประกอบเข้าร่วมพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ สืบมาจนถึงปัจจุบัน
ความสำคัญและการประดับเครื่องคชาภรณ์สมัยรัตนโกสินทร์
ในการสร้างและการประดับเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญ นอกจากเป็นเครื่องยศสำหรับช้างเผือกหรือช้างต้นของพระมหากษัตริย์แล้ว ยังใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับช้างต้นในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางหรือ พระราชพิธีสำคัญ ช่วยเสริมสร้างลักษณะของช้างต้นให้ดูสง่างามยิ่งขึ้น และแสดงพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในงานพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รวมทั้งในการเสด็จออกรับราชทูตต่างประเทศ8 เป็นต้น
ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการแต่งเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างต้นของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีสำคัญ ปรากฏหลักฐานเอกสารในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงการแต่งเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างต้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงรับราชฑูตอังกฤษ เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๖๘ ความว่า “…ที่เกยข้างนอกกำแพง ยืนช้างพระที่นั่งแต่งเครื่องกุดั่น ผูกพนาศระบาย ๓ ชั้น ผ้าปักหลังกันชีพ…และมีคนถือเครื่องยศสำหรับพระยาช้าง หม้อน้ำเงิน ๑ โต๊ะเงิน กล้วย ๒ หญ้า ๒…”9 ข้อความดังกล่าวเป็นการแต่งเครื่องคชาภรณ์ในการเสด็จออกรับราชฑูตต่างประเทศ เพื่อแสดงพระเกียรติของพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้แต่งเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างเผือกสำคัญในการพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งพระพิมลรัตน์กิริณีฯ ซึ่งเป็นช้างเผือกที่ได้มาเป็นช้างแรกในรัชกาลด้วยเครื่องคชาภรณ์ออกยืนแท่น ในการพระราชพิธีพิรุณศาสตร์10 พระราชพิธีดังกล่าว เป็นพิธีเรียกฝน ซึ่งสอดคล้องกับคติความเชื่ออินเดีย เชื่อว่าช้างเป็นสัตว์มงคลที่ให้น้ำและเรียกฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยเหตุที่ช้างเผือกมีสีผิวเหมือนดังเมฆฝนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์
การนำช้างเผือกแต่งเครื่องคชาภรณ์ออกยืนแท่นในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ นั้นเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์แก่บ้านเมือง และยังปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการแต่งเครื่องคชาภรณ์ให้แก่เจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งช้างเผือกคู่พระบารมีในพระราชพิธีสำคัญออกยืนแท่นบริเวณพระที่นั่งสุทไธสวรรย์11 (ภาพ๗) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พบหลักฐานภาพช้างทรงเครื่องคชาภรณ์ต้อนรับพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว12 (ภาพ๘) ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการแต่งเครื่องคชาภรณ์แก่พระยาช้างต้นในการออกมหาสมาคม (ภาพ๙) ต่อมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ ๗ (ภาพ๑๐) และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบัน13 (ภาพ๑๑) ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาช้างต้นทรงเครื่องคชาภรณ์ยืนแท่นเทียบพระคชาธาร ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ทั้งสองรัชกาล
ประเภทของเครื่องคชาภรณ์สมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์จะพระราชทานเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญประจำรัชกาลใน วันสมโภชขึ้นระวางช้างต้นมีส่วนประกอบสำคัญต่าง ๆ (ภาพ๑๒ และ๑๒ก) แตกต่างกันตามชั้นยศเครื่องคชาภรณ์จึงถูกแบ่งตามลำดับชั้นยศของช้างต้นที่ได้รับพระราชทาน ดังนี้14
๑.ช้างเผือกหรือช้างพระที่นั่ง จะได้รับพระราชทานให้ใช้เครื่องกุดั่น เป็นชุดเครื่องแต่งกายของช้างเผือก ตาข่ายทำด้วยกุดั่น คือ ลูกปัดแก้วเจียระไนประดับตุ้งติ้งทองคำ หรือแก้วแกมทอง
๒.ช้างต้นหรือช้างของพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นช้างพระที่นั่ง พระราชทานเป็นเครื่องถมปัด ตาข่ายทำด้วยถมปัด คือ โลหะทองแดง ถมด้วยน้ำยาผสมลูกปัดสี ป่นให้เป็นผงถมให้เป็นสีและลวดลายต่าง ๆ
๓.ช้างดั้งหรือช้างศึก พระราชทานเป็นเครื่องลูกพลู ส่วนตาข่าย ทำด้วยผ้าปักดิ้นทองฉลุเป็นลวดลายมีพู่ห้อยเรียงรายตามส่วนต่าง ๆ เช่น พู่ห้อยที่ตาข่าย ข้างตะเกียบหู ขอบชายของพนาศ ข้างซองหาง เป็นต้น ทั้งสามประเภทมีองค์ประกอบของเครื่องเหมือนกัน แต่ต่างกันเฉพาะวัสดุและรูปแบบ ซึ่งมีค่าสูงมากน้อยกว่ากันตามชั้นยศที่ได้รับพระราชทาน

เครื่องคชาภรณ์พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ มีการสร้างและพระราชทานจำนวน ๒ ชุด ชุดแรกสร้างขึ้นและพระราชทานในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ พระเศวตอดุยเดชพาหนฯ เมื่อแรกขึ้นระวางมีอายุน้อย ยังเป็นลูกช้าง เครื่องคชาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานขณะนั้นมีขนาดเล็กเหมาะสมกับรูปร่าง ต่อมาเมื่อสูงวัยขึ้น มีร่างกายใหญ่โตมากกว่าเดิมเครื่องคชาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานในคราวแรก จึงมีขนาดเล็กไม่สมรูปร่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดสร้างเครื่องคชาภรณ์ขึ้นใหม่เป็นชุดที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อพระราชทานแก่พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ซึ่งเป็นพระยาช้างต้นประจำรัชกาล (ภาพ๑) และเป็นช้างเผือกคู่พระบารมีมานาน เครื่องคชาภรณ์พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ชุดนี้ ประกอบด้วย16
๑.ผ้าปกกระพอง ทำด้วยผ้าเยียรบับลายทองพื้นแดง เย็บเป็นแผ่นรูปทรงคล้ายกลีบบัว ชายขอบผ้าทำเป็นริ้วลายทองพื้นเขียวอยู่ด้านใน พื้นแดงอยู่ด้านนอก ๒ ริ้ว ขลิบริมด้วยดิ้นเลื่อม ส่วนฐานของกลีบบัวเชื่อมต่อกับตาข่ายแก้วกุดั่น
๒.ตาข่ายแก้วกุดั่นหรืออุบะแก้วกุดั่น ทำด้วยลูกปัดแก้ว (เพชรรัสเซีย) เจียระไน ร้อยด้วยสายทองคำถัก เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือที่เรียกกันว่า อุบะหน้าช้าง มีความยาวด้านละ ๑๐๐ ซ.ม. เท่ากันทั้งสองด้าน ระยะจากปลายยอดสามเหลี่ยมถึงฐานกลีบบัว กว้าง ๘๗ ซ.ม. จุดที่สายทองคำถักร้อยลูกปัดแก้วประสานตัดกันเป็นตาข่าย ทุกจุดประดับด้วยดอกลายประจำยามทองคำประดับพลอยสีเขียว สีแดง และสีขาวห้อยด้วยพวงอุบะทองคำประดับพลอยสีแดงและสีขาว
๓.พู่หู สำหรับเครื่องคชาภรณ์อดุลยเดชพาหนฯทำด้วยขนหางจามรีสีขาว ใช้ห้อยจากผ้าปกกระพอง ลงมาอยู่ส่วนหน้าของใบหูทั้งสองข้าง ในการประกอบเป็นตัวพู่หรือลูกพู่ เบื้องต้นต้องทำแกนด้วยผ้าขาวเป็นรูปดอกบัวตูม มีเชือกหุ้มผ้าตาดทองต่อจากขั้วแกน เพื่อใช้ผูกกับผ้าปกกระพอง ต่อจากนั้นเย็บขนจามรีประกอบเข้ากับแกนที่เตรียมไว้ จำนวน ๒ พู่ พู่หรือลูกพู่นี้เมื่อเย็บขนจามรีเสร็จแล้วจะมีรูปทรงคล้ายดอกบัว


ดังนั้นเครื่องคชาภรณ์พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ชุดนี้ จึงถือเป็นทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สมัยรัตนโกสินทร์ที่ควรค่าแก่การรักษาเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป
_______________________________________________________________
* นายสมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์
[1] ณัฏฐภัทร จันทวิช. คติความเชื่อในเรื่องช้างเผือก. วารสารวิมานเมฆ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓ (มิ.ย. – ก.ค. ๒๕๔๗), หน้า ๘๐ – ๘๓.
[2] โคงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. ช้างราชพาหนะ. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา) , ๒๕๒๒. หน้า ๑๓.
[3] เพลินพิศ กำราญ. โรงช้างต้น. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร), ๒๕๒๑, หน้า ๑๕.
[4] กรมศิลปากร. การสร้างเครื่องคชาภรณ์. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๐), หน้า ๑๖.
[5] หน้าเดียวกัน.
[6] กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๒๐), หน้า ๑๘๑.
[7] โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. ช้างราชพาหนะ. หน้า ๓๔.
[8] กรมศิลปากร. การสร้างเครื่องคชาภรณ์. หน้า ๑๕.
[9] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร),
๒๕๓๘, หน้า ๑๓.
[10] กรมศิลปากร. พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๒๑
ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมญาณมุนี (วรรณ มนุญญมหาเถร) (กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์, ๒๕๕๒), หน้า ๓๒๐.
[11] กรมศิลปากร สำนักหอจดหมายเหตุ. ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ :
กรมศิลปากร), ๒๕๔๘. หน้า ๑๓๕.
[12] ศักดา ศิริพันธุ์. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย. (กรุงเทพฯ : บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์
จำกัด, ๒๕๕๕), หน้า ๒๗๙.
[13] กรมศิลปากร. ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : สำนัก
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ๒๕๕๐), หน้า ๑๑๐.
[14] กรมศิลปากร. การสร้างเครื่องคชาภรณ์. หน้า ๑๖.
[15] เพลินพิศ กำราญ. โรงช้างต้น. หน้า ๑๔.
[16] กรมศิลปากร. การสร้างเครื่องคชาภรณ์. หน้า ๒๗ – ๒๙.
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. การสร้างเครื่องคชาภรณ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๐.
กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๒๐.
กรมศิลปากร. ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์.
กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ๒๕๕๐.
กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี,
กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๘.
กรมศิลปากร. พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
พิมพ์ครั้งที่ ๒๑ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมญาณมุนี (วรรณ มนุญญมหาเถร) กรุงเทพฯ :
หอรัตนชัยการพิมพ์, ๒๕๕๒.
โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. ช้างราชพาหนะ. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๒๒.
ณัฏฐภัทร จันทวิช. คติความเชื่อในเรื่องช้างเผือก. วารสารวิมานเมฆ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓ (มิ.ย. – ก.ค. ๒๕๔๗),
หน้า ๘๐ – ๘๓.
เพลินพิศ กำราญ. โรงช้างต้น. กรุงเทพฯ : ศิลปากร, ๒๕๒๑.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘.
ขอบคุณที่มา : http://emuseum.treasury.go.th/